พิธีกรรม ประเพณีรอบปีอ่าข่า Akha Year ceremonial

ข้อมูลพิธีกรรม ประเพณี รอบปี
ชาวอ่าข่า / Akha year ceremonie
------------------------------------
พิธีเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวสุดท้าย
    “แช้จี้ชี-เออ” (Cehl  jil ci-eu)
พิธีกรรมแช้จี้ชีเออ” (Cehl jil ci eu)     เป็นพิธีระดับครอบครัว  ประกอบพิธี ช่วงปลายเดือน  กุมภาพันธ์ต้นเดือนเมษายน   หลังประเพณีปีใหม่ลูกข่างผ่านไป  การประกอบพิธีกรรมนี้ มีมาตั้งแต่อดีต   เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวไร่ เก็บเมล็ดพันธุ์ครั้งสุดท้ายเข้าไปเก็บไว้ในบ้าน   มีลักษณะ ประกอบพิธีกรรม 2 แบบ คือ แบบธรรมดาใช้ไข่ และแบบพิธีใหญ่ ใช้หมู  ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบจะมีความหมายการประกอบพิธีเหมือนกัน ต่างกันที่ความยิ่งใหญ่ของการประกอบพิธี และผู้มาร่วมเท่านั้น  มีขั้นตอนทำพิธี คือ ขั้นตอนพิธีชำระล้างข้าวให้บริสุทธิ์ สี่เหย่วซ้อ”(Siq yoeq sawl)   ขั้นตอนพิธีเก็บเมล็ดพันธุ์แช้จี้ชี” (Ceh jil ci-eu) โดยแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดในการประกอบพิธีกรรมแตกต่างกัน โดยการประกอบพิธีกรรมจะดำเนินการที่ ฉางข้าวพิธีที่เรียกว่า แช้จี้สี่มาอู่กึ่ม Cehl jil siqma uq ghumq และภายในบ้าน
ความหมาย
1)-สืบสานเมล็ดพันธุ์ข้าวดั้งเดิม  
2)-ประกอบพิธียามแล้ง ช่วงอาหารสมบูรณ์น้อยพิธีนี้ช่วยให้ครอบครัวอาหารบริโภค
          3)-คนชุมชนมีส่วนร่วมได้เรียนรู้การ ทำงานระหว่างวัย สืบสานอาชีพ เกษตร

              ประเพณีชนไข่แดง
               “ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อ่า เผ่ว” 
(Qumq shuivq qumq mil aq poeq)

หลังพิธีอยู่กรรมเผาไร่ช่วงเดือนเมษายน มีการประกอบประเพณี  “ขึ่มสึ  ขึ่มมี้ อ่าเผ่ว” (Qumq shuivq qumq mil aq poeq)  หมายถึง  ประเพณีต้อนรับฤดูกาลใหม่  พูดสั้นๆ ว่า  ปีใหม่ชนไข่อ่าข่า    
มีตำนานเล่าว่า ผู้นำวัฒนธรรม   และหมอสวดพิธีกรรม ได้ประชุมหารือ กฎจารีตพิธีกรรมโดยเริ่มตั้งแต่ข้างขึ้น 1 ค่ำ จนถึงข้างแรม 15 ค่ำ    ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว มีการประกอบประเพณีหลายประเด็น มีการฉลองตำแหน่งผู้นำวัฒนธรรมและการปกครองชุมชน     ต้องใช้เวลานานเป็นเดือนเพราะมีเนื้อหาด้านต่างๆ ในการดำเนินชีวิตมาเล่าสู่กันฟังถือเป็นเป็นการสังคยนาวัฒนธรรมในรอบปี  ในระหว่างวันหยุดมีการย้อมเปลือกไข่เป็นสีแดงให้เด็กชนเล่น ต่อมาประเพณีชนไข่ ได้ถูกย่นเวลาเหลือมาเพียง 5 วัน  บางชุมชนมีเพียง 4 วัน คาดว่าเหตุที่ย่นเวลามาก็เพราะการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชนเผ่ามีมากขึ้นกิจกรรมต่างๆ ไม่มี จึงเป็นสาเหตุของการย่นเวลามา
ความหมายประเพณี     1)-เป็นวันเด็กอ่าข่า  
2)-ช่วงเริ่มต้นการเรียนรู้พิธีกรรมประเพณีต่างๆ  ของชนอ่าข่า
3)-ต้อนรับฤดูกาลใหม่(ฤดูฝน)  สามารถเริ่มปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ
4)-ไหว้ครูของบรรดาผู้มีตำแหน่งทางวัฒนธรรมในชุมชน

   พิธีปลูกประตูหมู่บ้าน

       “ล้อ คอง ดู่-เออ ” (Lawl  kahq Duq-eu) 

ประตูหมู่บ้าน เป็นศาสนสถานที่สร้างไว้ก่อนเข้าสู่ชุมชนของชาวอ่าข่าทางทิศเหนือ และทิศใต้ของชุมชน  ประตูหมู่บ้านอ่าข่าเรียกว่า ล้อ คอง” (lawl kahq) หรือ เล้อง คอง”(lahl kahq) แปลความหมายได้คือ  “เขตหรือเขตคุ้มครองบุคคลภายนอกนิยมเรียกประตูหมู่บ้านนี้ว่า  “ประตูผีการทำพิธีปลูกสร้างประตูหมู่บ้านของอ่าข่าจะทำในเดือนเมษายน หลังจากที่มีการทำประเพณี ปีใหม่ชนไข่ ตรงกับเดือนอ่าข่าคือ ขึ่มสึ บาลา” (Qumq shuivq ba la)  โดยแต่ละชุมชนจะกำหนดวันฤกษ์ดีของผู้นำวัฒนธรรมและการปกครองแล้ว ดำเนินการทำพิธีปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน อ่าข่ามีความเชื่อต่อการทำประตูหมู่บ้านเพื่อไม่ให้ภูตผีปีศาจ โรคภัยไข้เจ็บ หรือสิ่งไม่ดีไม่งามทุกชนิด ไม่ให้เข้ามาในชุมชน ถือเป็นรั้วคุ้มครองคนในชุมชน โดยใช้เวลาในการประกอบทำพิธี 1 วันเท่านั้น 
 ประตูหมู่บ้านเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ห้ามบุคคลทุกเพศ ทุกวัย แตะต้อง ลบหลู่ประตูแห่งนี้
ขั้นตอนการประกอบพิธี
-ผู้นำวัฒนธรรมการปกครอง เจ่วมา”(Dzoeq ma)  กำหนดวันฤกษ์ดี ก่อนการปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน 1 คืน ประมาณ 2 ทุ่ม ผู้นำวัฒนธรรมมีการประกาศ อวยพร เน้นคำอวยพร คุ้มครองเป็นหลัก เรียกว่าลอง กู้ กู้” (lah gul gul)  
-เช้าวันใหม่มีการเตรียมเครื่องเซ่น  และออกไปปลูกสร้างประตูหมู่บ้านพร้อมกัน โดยมี
รายละเอียดพิธีกรรมปลูกประตูหมู่บ้านหลายขั้นตอน และมีเครื่องประดับต่างๆ หลายประเภท จนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยปลูกประตูหมู่บ้าน 2 ประตู คือประตูทางทิศเหนือหมู่บ้านเป็นประตูเพศผู้ ส่วนทิศใต้หมู่บ้านเป็นประตูเพศเมีย
 ความหมายพิธีกรรม
1)-ทำเครื่องหมาย แบ่งเขตระหว่างผีร้าย  “แหนะที่มองไม่เห็นกับโลกมนุษย์
2)-ให้นกแซงแซว นกฮูก  กา  เป็นนกช่วยประกาศเตือนภัยให้คนชุมชน
3)-แสดงถึงธรรมชาติการสืบสานเผ่าพันธุ์ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิต มนุษย์
4)-แสดงถึงอายุตั้งชุมชนโดยนับได้จากเสาประตู และเป็นวันนักศิลปะชุมชน

                  พิธีถวายสังฆทานและขับผีเปรต
  “ค้า ด่า ฉี่-เออ” (Kal daq ciq-eu)
พิธีเชิญผีเปรตออกจากชุมชนหรือ  “ค๊า ด่า ฉี่-เออ” (Kal daq ciq-eu)  อ่าข่าได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน   พิธีกรรมนี้ ทำเพื่อเชื้อเชิญให้วิญญาณทาส  ผีเปรต เผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนให้ออกไป  พิธีนี้ถือเป็นการถวายสังฆทานทำบุญแก่ผู้ตายหรือเปรตผู้ไร้ญาติ เมื่อกำหนดวันประกอบพิธีแล้วทำได้ทุกวัน ปัจจัยที่สำคัญที่มีการประกอบพิธีนี้ดูจากโรคภัยไข้เจ็บของชุมชนทั้งมนุษย์และสัตว์  หากเกิดโรคก็สามารถเริ่มประกอบพิธีนี้ได้ โดยใช้เวลาเพียง 1 วัน   การประกอบพิธีกรรมปีหนึ่งทำ 3 รอบ หรือตามรอบระยะ ที่เรียกว่า อ้าข่า Al kaq  รอบแรกหลังพิธีปลูกสร้างประตูหมู่บ้าน  รอบที่สองหลังประเพณีค้อง แยะ แยะ” Kahl yehv yehv (ไล่ผี)  รอบที่สามหลังกอบพิธีปีใหม่เล่นลูกข่าง  ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม
                   ก).ทำตะแกรงใหญ่ไผ่เนื้ออ่อน ที่บ้านผู้นำวัฒนธรรม
).ให้สมาชิกชุมชนนำอาหารของกิน ข้าวตอก ดอกไม้ เมล็ดพืช ฯลฯ ใส่ตะแกรง
    และปั้นรูปตุ๊กตาโดย เฉพาะรูป ม้า วัว ควาย ช้าง  แล้วใส่ตะแกรง เพื่อเชิญเจ้า.         ผีเปรต
    ต่างๆ นั่ง
).เมื่อทุกครอบครัว วางเครื่องสังฆทาน พร้อมแล้ว ให้ยกตะแกรง อ่าข่าเรียกตะแกรงนี้ว่า
   ค๊าด่า”(Kal daq) ไปทิ้งบริเวณทางเข้า ชุมชนด้านทิศเหนือและใต้ ถื่อว่าเสร็จพิธี
 ความหมายพิธีกรรม
1)-สร้างเสริมกำลังใจให้คนในชุมชนมีจิตใจ ความเข้มแข็ง
2)-เชื่อว่า ภูตผี เปรต วิญญาณของเผ่าพันธุ์ที่ตายและหากินกับมนุษย์ เจ้ากรรมนายเวร ต่างๆ จะ
    ออกชุมชนหลังการประกอบพิธี
  
          ศาลพระภูมิเจ้าที่
    “มี้ ซ้อง ล้อ เออ”(Mil sahl lawl-eu)
ศาลพระภูมิเจ้าที่ เป็นศาสนสถานชุมชนที่กราบไหว้เคารพอ่าข่า มีการสร้างเพื่อบูชาทุกปี ในเดือนเมษายน  หลังจากปลูกสร้างประตูหมู่บ้านแล้ว การประกอบพิธีใช้เวลา 1 วัน สถานที่ตั้งศาล อยู่ห่างจากชุมชนทางด้านทิศเหนือ ประมาณ  500  เมตร ทำเลที่ตั้งต้องเป็นภูเขา พื้นที่อยู่สูงกว่าระดับชุมชน สามารถใช้จุดที่ตั้งศาลนี้เห็นพื้นที่ชุมชนได้ทั่วถึง และจะเป็นต้นน้ำ ของลำธารต่างๆ  ทั้งนี้เชื่อว่า เพื่อให้เจ้าที่ ดูแลปกปักรักษาชุมชนอย่างทั่วถึง อ่าข่าเรียกศาลนี้ว่า มี้ซ้อง” (Mil sahl)  แปลว่า เจ้าที่ดิน  อ่าข่ายังได้ให้ความหมายรวมไปถึงสรรพสิ่งทุกอย่างที่มีความผูกพันกับชีวิตมนุษย์ อาทิเช่น เจ้าที่ดิน เจ้าป่า เจ้าเขา  ต้นไม้ อากาศ  สัตว์ป่า รวมทั้งเจ้าเมืองของทุกเผ่าพันธุ์ที่เคย และดำรงเป็นใหญ่ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน อ่าข่าถือว่าเป็นผู้มีคุณให้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย
ดังนั้นตามความเชื่อ ศาลเป็นแหล่งสิงสถิตดวงวิญญาณและเจ้าที่ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้  เป็นผู้ช่วยคุ้มครองดูแลชีวิตและชุมชน ให้มีความอยู่ดีเป็นสุขการประกอบพิธี จะมีการสร้างศาลในเขตป่าอนุรักษ์ของชุมชน ซึ่งมีขนาดศาลกว้างประมาณ 50 เซนติเมตรและยาวประมาณ 60 เซนติเมตร สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 140 เซนติเมตร ติดกับต้นไม้ประเภทไม้ผล พร้อมทั้งมีการทำรั้วรอบศาลซึ่งภายในรั้วนี้  เมื่อสร้างศาลเสร็จแล้วก็จะทำการประดับประดาเครื่องประดับที่ทำจากไผ่ทั้งเส้นเงิน ตาแหลว เพื่อความสวยงามและการคุ้มครองชุมชน เมื่อสร้างศาลเสร็จก็จะทำพิธีล้มไก่ หมู เพื่อเซ่นไหว้ส่วนอาหารที่ได้จากการเซ่นไหว้ ผู้เข้ามาร่วมก็สามารถรับประทานได้  บริเวณที่มีศาลพระภูมินี้
ความหมายพิธีกรรม ประเพณี
1)-เป็นที่สิงสถิตของเจ้าที่ดิน ป่า น้ำ  ลม  ตลอดจนบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ล่วงลับ ช่วย
    คุ้มครองชีวิต ให้ชุมชนอยู่เป็นสุข  

2)-เป็นที่ถวายสังฆทานอาหาร พืชผักของชุมชนที่เพาะปลูกได้ และเป็นที่พึ่งพิง

    และที่บนบานสูงสุดของอ่าข่า

3)-ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ  

.
ประเพณีปลูกข้าวเริ่มต้น
แช้คา อ่าเผ่ว”( Cehl  ka  aq  poeq )    
ประเพณี  แช้ คา อ่าเผ่ว”(Cehl ka aq poeq)  หมายถึง  “พิธีกรรมปลูกข้าว มีตำนานเล่า ว่าสมัยก่อนมนุษย์ไม่มีข้าวจะกิน เพราะขาดพันธุ์ข้าว จึงหลอกให้นก   ไปขโมยข้าวเปลือกของ เทพเจ้า  ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ขโมยมานั้นมีชื่อว่าโกะ มา”(Ghov ma)  ของเทพเจ้านั่นเอง นกที่สามารถขโมยพันธุ์ข้าวนั้นได้มีชื่อว่าห่า เห่ว”(haq hoeq) คือ นกเขา แต่เมื่อมนุษย์ขอพันธุ์ข้าวที่ขโมยมา   นกเขากลับบอกว่า ได้กินลงไปในท้องหมดแล้ว     จากนั้นนกเขาได้บินหนีไปเกาะอยู่บนกิ่งไผ่ซาง  เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร   จึงนำหน้าไม้ยิงนกเขา  และนกเขาได้ตกลงไปในน้ำวนถูกปลากิน ทำให้มนุษย์คิดหนักมาก เพราะต้องเอาพันธุ์ข้าวไปปลูก  สุดท้ายก็ใช้ แห”  เหวี่ยงจับปลาในน้ำวนได้    แล้วผ่าท้องนกเขาเอาพันธุ์ข้าวออกและก่อนนำไปปลูก   มนุษย์เอาพันธุ์ข้าวดังกล่าวไปชำระล้างในบ่อน้ำบริสุทธิ์    จนเป็นเหตุให้เกิดประเพณีการปลูกข้าวแช้คา อ่าเผ่ว” (Cehl ka aq poeq)  และการชำระพันธุ์ข้าวให้สะอาดก่อนปลูกเกิดขึ้นมาได้ถึงวันนี้       การประกอบพิธีกรรม มีจำนวน 2 วัน 
-วันแรก วันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ    พร้อมทั้งมีการพัฒนา แหล่งน้ำบริสุทธิ์ที่เรียกว่าอี ซ้อ ล้อ เขาะ”(il sawl lawl qawvq)  -วันที่สอง วันเริ่มพิธีปลูกข้าว  “แช้ คา คาเดาะ” (Cehl ka ka dawvq)  โดยผู้นำชุมชน ซึ่งมีขั้นตอนการปลูกข้าวในไร่อีกหลายขั้นตอน

ความหมายพิธีกรรม

1)-กระตุ้นให้ครอบครัวอ่าข่า สรรหาพันธุ์ข้าวที่จะใช้ปลูกในปีนั้นๆ
2)-ขอขมาต่อพระแม่คงคาและให้คนได้มีการประกอบอาชีพ โดยการปลูกข้าว
3)-แสดงให้คนในชุมชนรู้จักทำไร่ สวน เพื่อหาอาหารเลี้ยง

                                   
                                ประเพณีพิธีเรียกขวัญไร่ข้าว
          “ขึ่มผี่  ล้อ-เออ”(qumq piq lawl eu)
พิธี ขึ่มผี่ ล้อ” (Qumq piq lawl) หมายถึง พิธีบำรุงข้าวไร่ให้งอกงามเป็นพิธีกรรมระดับครอบครัว   ซึ่งชาวอ่าข่าทำพิธีนี้ เป็นพิธีที่ให้ขวัญและกำลังใจ กับข้าวที่กำลังเจริญงอกงาม รวมทั้งเจ้าที่ที่เฝ้าดูแลรักษาไร่  (เจ้าแม่ข้าวที่เฝ้าดูแล) ซึ่งเจ้าแม่ข้าวที่เฝ้าดูแลไร่ข้าวนั้นมีชื่อว่าฉ่า หน่า อ่ามา”  (Tsaq naq aq ma) ประเพณีนี้เริ่มช่วงเดือน กรกฎาคม ตรงเดือนอ่าข่าคือ เช้ ลา (Tsel la ba la) โดยแต่ละครัวเรือนมีพิธีเซ่นไหว้ให้เจ้าที่ ผู้ดูแลไร่ เรียกว่า ขึ่ม ผี่ ล้อ”(Qumq piq lawl) ในไร่ของตนเอง ซึ่งการประกอบพิธีกรรมนี้แบ่งออกได้เป็น  2 ลักษณะ คือ
-การประกอบพิธีแบบธรรมดา (ใช้ไก่)  
-การประกอบพิธีแบบใหญ่(ใช้หมู)

ความหมายพิธีกรรม ประเพณี

1)-สร้างขวัญ กำลังใจ ให้ผู้ปลูกข้าวไร่ ได้เอาใจใส่ไร่ข้าว อย่างสม่ำเสมอ  
2)-ขอขมา สิ่งที่กระทำไปโดยความไม่ตั้งใจ เช่น การฆ่าหนู นก งู ช่วงที่ทำไร่                            
  

ประเพณีโล้ชิงช้า
          “แย้ ขู่ อ่าเผ่ว” (Yehl  kuq  aq poe)
                -------------------------------------------
ประเพณี  “แย้ ขู่ อ่าเผ่วมีชื่อเรียกได้ หลายชื่อเช่นหละเฉ่ออ่าเผ่วคือ ประเพณีโล้ชิงช้า  “แย้ขู่จ่าเออ”    คือ ประเพณีกินตอนหน้าฝน ประเพณีนี้เริ่มจัดช่วงปลายเดือนสิงหาคม  ถึงต้นเดือน กันยายน  ตรงกับเดือนอ่าข่าฉ่อลา”  หลังประเพณีปลูกข้าวผ่านมาแล้ว 97  วัน หรือประมาณ  9 สัปดาห์อ่าข่า (1 สัปดาห์ 12 วัน ใช้ราศีสัตว์) ก็จัดประเพณี โล้ชิงช้าได้
ตำนานความเป็นมา
          ประเพณีโล้ชิงช้า เกิดขึ้นในแผ่นดินประเทศจีน ซึ่งมีตำนานกล่าวว่าเขตแดนนี้ มีผู้นำอ่าข่าที่ทำหน้าที่ปกครองเป็นผู้ได้กำหนดขึ้น   โดยจัดประเพณีโล้ชิงช้า 33 วัน ทำให้มาชิกคนในเขตแดนแห่งนี้ ประกอบด้วยคนจน คนรวย ต้องเตรียมเสบียงหาอาหาร โดยคนจน ก็เข้าป่าหาผลไม้ เผือก มัน มากองไว้หลายกอง ส่วนคนรวยก็ได้เตรียมข้าวสารไว้บริโภคในช่วงเทศกาลดังกล่าวหลายกระบุง  และเมื่อเทศกาลเริ่มได้ไม่นาน กลุ่มคนรวยก็เดือดร้อนเพราะอาหารที่เตรียมไว้หมดก่อน ส่วนอาหารที่คนจนเตรียมไว้ ยังมีเหลืออีกอยู่มาก   ด้วยเหตุนี้ผู้นำการปกครอง จึงให้ย่นเวลา การจัดประเพณีโล้ชิงช้า เหลือเพียง 4 วัน  นอกจากนี้ประเพณีโล้ชิงช้า ยังเป็นสัญญลักษณ์ ประเพณีของผู้หญิงอ่าข่า โดยผู้หญิงแต่งตัวประดับประดาด้วยเครื่องทรง มาสวมใส่เล่นโล้ชิงช้าในประเพณีนี้  มีการร้องเพลงโล้ชิงช้าเล่นแบบเดี่ยวและเป็นคู่ ซึ่งตำนานกล่าวว่าจากการร้องเพลงโล้ชิงช้า ทำให้เกิดฝนตกอย่างมาก อีกทั้งประเพณีดังกล่าวยังเป็นการ
ฉลองพืชอาหารที่พร้อมให้ผลผลิตให้ผู้ปลูกได้กินอีกด้วย เทศกาลประเพณีโล้ชิงช้ามีอยู่ 4 วัน คือ
 -วันแรกเรียกว่าจ่า แบ”(Dzaq beh)    ประกอบพิธีบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษครอบครัว
 -วันที่ สอง วันสร้างเสาชิงช้าหละ เฉ่อโจ๊ะ อ้านอง”(Lavq ceuq tsovq al nah) ช่วงเย็นกระทุ้งกระบอกไผ่
 -วันที่สามวันฉลองวันล้อดะ”(Lawl dav aq poeq)  มีการล้มหมู ควาย แบ่งเนื้อฉลองกินในเทศกาล
-วันที่สี่เรียกว่าจ่า ส่า”(Dzaq saq)  วันสุดท้าย

ความหมาย ประเพณี

1)-ส่งเสริมร่างกายให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 
2)-ให้มนุษย์มีพืชผักบริโภคไว้บริโภค   ในครัวเรือนและเชิดชูผู้หญิง   
3)-สะท้อนสัจธรรมสังคม  ประกอบด้วยคนรวยคนจน   
                                       


ประเพณีเชิดชูผู้นำเจ่วหย่า
            “ยอลา อ่าเผ่ว” (Zaw la aq poeq)            

 หลังเทศกาลโล้ชิงช้าผ่านไปแล้ว 13 วัน (1 รอบสัปดาห์อ่าข่า) จะมีประเพณียอลา อ่าเผ่ว”    ประเพณีนี้จะประกอบเดือนกันยายน ตรงกับเดือนอ่าข่าคือยอลาโดยทำพิธีกรรมเป็นเวลา  2 วัน  มีประวัติเล่าว่าเกิดขึ้นเนื่องจากในชุมชนอ่าข่า นอกจากมีผู้นำทางวัฒนธรรมและการปกครอง แล้ว  ชุมชนก็ยังมีตำแหน่งรองผู้นำวัฒนธรรม เรียกว่าเจ่ว หย่า ซึ่งอดีตเคยดำรงตำแหน่ง เป็นผู้นำวัฒนธรรม
ดังนั้นประเพณี  ยอ ลา อ่าเผ่วจึงจัดขึ้นเพื่อเชิดชูอดีตผู้นำทางวัฒนธรรม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งมาก่อน   เมื่อถึงประเพณีนี้จึงมีการประกอบพิธีกรรมไหว้ครู และเลี้ยงอาหารให้สมาชิกในชุมชน กิจกรรมพิธีกรรมประกอบด้วย  
-วันแรก      การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ           
-วันที่สอง    วันเซ่นไหว้ฉลองตำแหน่ง
ความหมายประเพณี
1)-เซ่นไหว้ฉลองตำแหน่งที่ได้สืบทอดกันมาของผู้ดำรงตำแหน่งเจ่วหย่า 
2)-เลี้ยงขอบคุณแก่สมาชิกคนชุมชน ที่สนับสนุนช่วยเหลือซึ่งกัน


ประเพณีถอนขนไก่วันรวมญาติ
    “ยา จิ จิๆ อ่าเผ่ว” (Ya civ civ aq poeq)

หลังพิธีอยู่กรรมวันแซ้ย์”(Shehl) ผ่านไป และเมื่อถึงวันแกะย้อ” (Yawl) ตามการนับวันรอบสัปดาห์อ่าข่า ก็จะเริ่มประเพณี  “ยา จิ จิ   หมายถึงประเพณีถอนขนไก่  ชาวอ่าข่าได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มี ประวัติเล่ากันมาว่าวันแกะอ่าข่าเรียกว่าย้อ  เป็นวันเกิดของเทพอ่าเผ่วหมี่แย้  ผู้ให้กำเนิดชีวิตมนุษย์  ดังนั้น เทพ ของชาวอ่าข่านั้น จึงได้บัญชาให้ บรรดาเหล่า ปู่ ย่า ตา ยาย ของตระกูลต่างๆ  ที่เสียชีวิตและอยู่กับเทพอ่าเผ่วหมี่แย้ 7 ช่วงโคตร อ่าข่าเรียกว่าสิ จึ อ่าเผ่ว”(Shivq tsuivq aqoeq) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อสำรวจสมาชิกในโลกมนุษย์  ของแต่ละตระกูลว่า มีการเกิดแก่เจ็บตายเท่าใดโดยให้ลงไปสังเกตการณ์ใน วันแกะ
ซึ่งเป็นวันเกิดของเทพเจ้า ชาวอ่าข่าก็เลยมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นโดยการจัดทำพิธีกรรมในวันแกะวันย้อ”(Yawl) ฉะนั้นสมาชิกครอบครัวที่อยู่แห่งหนใดก็กลับบ้านเพื่อร่วมพิธีกรรมนี้ เป็นเวลา 1 วัน  มีขั้นตอนประกอบพิธีกรรม คือ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษและถอนขนไก่ช่วงเที่ยงวัน
ความหมายประเพณี  เป็นวันครอบครัวอ่าข่า และรำลึกถึงบรรพบุรุษ ของสายตระกูลที่ล่วงลับ   




 ประเพณีไล่ผีออกจากชุมชน
     “ค้าแยะ แยะเออ  (Kal yehv yehv)

ประเพณีนี้จะเริ่มภายหลังจากที่มีการอยู่กรรมในวันหมูผ่านพ้นไปแล้วหรือห่างประมาณ 1 รอบสัปดาห์อ่าข่า โดยมีการประกอบพิธีกรรมนี้  2 วัน ช่วงเดือน ตุลาคม ตรงกับเดือนอ่าข่าคือสี่ แยะ”(Siq yehv)   จากการเล่าของผู้อาวุโส พบว่าประเพณีค้า แยะ แยะ”  เป็นช่วงที่พืชพันธุ์ที่ปลูกลงไปในไร่มีผลผลิตและเริ่มที่จะเก็บเกี่ยวได้  เช่น แตงโม แตงกวา ผัก ข้าว ฯลฯ เพื่อใช้บริโภค  นอกจากนี้ การจัดพิธีขึ้นเพื่อเป็นการขับไล่ สิ่งไม่ดี ซึ่ง อ่าข่าพูดว่า  “แหนะผี โดยมีการแกะสลักไม้เนื้ออ่อนทำเป็น  ดาบ ปืน หอก  อุปกรณ์เหล่านี้เรียกว่าเตาะมาเป็นเครื่องหมายใช้ในการขับไล่สิ่งไม่ดีอออกจากชุมชน มีการตะโกนใช้เสียง ยิงปืน จุดปะทัด  ตลอดทั้ง  2  วัน  มีกิจกรรมพิธีกรรม คือ        -วันแรก   การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
-วันที่สอง ทำอุปกรณ์เครื่องมือไล่สิ่งเลวร้าย เพื่อให้เด็กได้ ไล่ตะโกนและเก็บของกินแต่ ละหลังคาเรือน
ความหมายประเพณี
1)-แสดงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล  จากฤดูฝน เข้าสู่ฤดูหนาว
2)-ฝนตกตกน้อยลง สามารถเล่นเต้นรำ เรียนรู้พิธีกรรมได้  
3)-ผู้นำวัฒนธรรมเจ่วมาเลี้ยงอาหารตำแหน่ง  และสร้างกำลังใจดูแลสุขภาพ
                 

   ประเพณีเลือกวันฤกษ์ดีชุมชน/กินข้าวใหม่
       “ยอพู นองหมื่อ เช้-เออ” (Yaw pu nah  muiq tsel-eu)

ประเพณีนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกพิธีกรรมหนึ่ง  ที่ชนเผ่าอ่าข่าได้สืบทอดปฏิบัติกันมา ในรอบปี โดยเฉพาะพิธีกรรมที่ทำเกี่ยวกับข้าวไร่ ประเพณี ยอพู นองหมื่อ เช้-เออ    หมายถึง การกำหนดฤกษ์วันดีของชุมชน  เพื่อให้สมาชิกในชุมชน สามารถที่จะประกอบพิธีกรรม กินข้าวใหม่อ่าข่าเรียกว่าแช้ นึ้ม จึ-เออ และพร้อมเก็บเกี่ยวข้าวในไร่ได้ อนึ่ง ประเพณี กำหนดวันฤกษ์ดียอพู นอง หมื่อ เช้จะใช้ระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น ซึ่งการเลือกฤกษ์วันดี นั้น จะให้ครอบครัวผู้นำทางวัฒนธรรมเจ่วมาหรือ เอาครอบครัวอื่นๆ ก็ได้ โดยครอบครัวที่จะเป็นแกนนำดังกล่าว ตอนกินข้าวใหม่ต้องใช้หมูประกอบพิธีกรรม เพื่อทำนาย ผลผลิตชุมชนโดยดูตับหมู  สำหรับการประกอบพิธีกรรมนั้นจะใช้ทั้งไก่และหมูโดยมีการเก็บเกี่ยวข้าวเริ่มต้น และพร้อมนำไปเซ่นไหว้เพื่อสืบสานประเพณีเกี่ยวกับข้าวต่อไป
ความหมายพิธีกรรม 
1)-เป็นการกำหนดวันฤกษ์ดีในการเก็บเกี่ยวข้าวของชุมชนเป็นสิริมงคล ต่อชุมชน
2)-เพื่อสืบสานเอาพันธุ์ข้าวที่อ่าข่าเชื่อว่าเป็นพันธุ์ที่บรรพบุรุษได้ใช้ในการเพาะปลูก ต่อเนื่อง
3)-เป็นการเริ่มต้นเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว เพื่อใช้ในรอบปี

           

พิธีกรรมทำกระบอกเหล้าพิธี
                  “แช้ สึ จี้บ่าถ่อง ล้อ
            (Cehl shuivq jil baq tahq lawl)      
พิธีกรรมนี้บางคนเรียกว่าแช้สึ เผ่ว ฉี่ ล้อหมายถึง บูชาข้าวใหม่  โดยพิธีกรรมนี้ อ่าข่าจะทำกระบอกเหล้าพิธีที่เรียกว่าจี้บ่า จี้สี่” (jil siq) เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทุกประภท ซึ่งขั้นตอนการทำพิธีกรรมนี้ ต้องเลือกฤกษ์วันดีของครอบครัว โดยใช้เวลาทำพิธีช่วงเช้าเป็นเวลา 3 เช้า ( 3 วัน)  คือ
วันแรก ตำข้าวใหม่  โดยตำให้มีข้าวเปลือกผสมอยู่ด้วย เรียกว่าแช้แจยะ”(Cehl dzehv) เพื่อ
นำไปต้มทำกระบอกเหล้าพิธี 
วันที่สอง วันอัดข้าวสารใหม่ใส่กระบอกเหล้าพิธี    ที่ได้จากการตำของวันที่ผ่าน
  มา โดยมาอัดใส่กระบอกเหล้าพิธีจี้บ่า จี้สี่จำนวน 3 กระบอก
วันที่สาม วันทำพิธีเซ่นไหว้บูชา โดยใช้กระบอกเหล้าพิธีที่ได้จากข้าวใหม่
ความหมายพิธีกรรม
1)-เตรียมเหล้าพิธีจากข้าวใหม่ เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของรอบปี
2)-พิธีกรรมแสดงถึงประกอบทำอาหารร่วมกันได้ระหว่างอาหารที่ผลิตขึ้นเอง และอาหารที่อยู่ในป่า เช่น เนื้อสัตว์ป่า ต้มร่วมกับข้าวใหม่ที่เก็บเกี่ยวได้ เพราะเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป อาหารที่ผลิตเองเริ่มหมดลง จำต้องหาอาหารในป่ามากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาอาศัยป่า เพื่อดำรงชีวิต  

    
    พิธีเกี่ยวข้าวครั้งสุดท้าย
บ่อง เยว แปยะ-เออ” (Bahq yoe pyehv-eu)

ช่วงกลางเดือนตุลาคม  ชาวอ่าข่าเริ่มมีการเกี่ยวข้าว จากในไร่ของตน ที่ให้ผลผลิต เพื่อจะให้นำไปใช้ในการบริโภคของแต่ละครอบครัว อย่างไรก็ตามก่อนที่ไร่แต่ละผืน มีการเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อให้หมดจากไร่  เจ้าของไร่ข้าว จะเว้นต้นข้าวที่มีรวง โดยไม่เก็บเก็บเกี่ยวไว้ประมาณ 2-3 รวง หรือ  1 กอข้าว  ตรงบริเวณซุ้มทำพิธีในไร่ยาชุ้ม ขึ่ม ผี่”(Za cuml qumq piq) เพื่อคงไว้จะทำพิธีเก็บเกี่ยวข้าวครั้งสุดท้ายเรียกว่าบ่อง -เยว แป๊ยะ เออ  พิธีดังกล่าวใช้เวลา 1 วัน  เป็นพิธีเก็บรวงข้าวเป็นครั้งสุดท้ายของชาวอ่าข่าที่เคยปฏิบัติกันมา  พิธีกรรมนี้เป็นพิธีระดับครอบครัว เมื่อถึงวันฤกษ์ดีก็สามารถประกอบพิธีนี้ได้โดยมีรายละเอียดของการประกอบพิธีกรรมทั้งทำที่ไร่ และบ้านต่างกันไป   
ความหมายพิธีกรรม 
1)-เป็นการเรียกเจ้าที่ที่ดูแลไร่ข้าวกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านที่เรียกว่า  “ฉ่าหน่าอ่ามา
2)-เป็นการเก็บเกี่ยวข้าว จากในไร่ เป็นครั้งสุดท้าย และหลังจากนี้อ่าข่า สามารถท่จะแผ้ว
    ถางไร่เก่าได้เพื่อเตรียมปลูกพืชพันธุ์ในรอบต่อไป

        

   ประเพณีปีใหม่ลูกข่างอ่าข่า
ค้า ท้อง อ่าเผ่ว”  ( Kal tahl aq poeq) 
ประเพณีค้าท้องพ้า-เออหมายถึง การเปลี่ยนปีใหม่  ประเพณีดังกล่าวเริ่มในเดือนธันวาคม ตรงกับเดือนอ่าข่าท้อง-ลา”(Tahl la) คนทั่วไปนิยมเรียกประเพณีนี้ว่าปีใหม่ลูกข่างและช่วงนี้ตรงกับเทศกาลปีใหม่สากล  ตามหลักการเรียกประเพณีนี้ของชาวอ่าข่า  สามารถแปลตามความหมายคำ ที่เรียกอยู่คือค้า”(Kal)  ให้ความหมายถึง เพาะปลูกท้อง”(Tahl)ให้ความหมายถึง ปี หรือรอบฤดู  “พ้า-เออ” (Pal-eu)  แปลว่า  เปลี่ยน ดังนั้น ถ้ารวมคำ ทั้งหมด ก็จะได้ความหมายว่า ประเพณีเปลี่ยนฤดูกาลเพาะปลูก  มีจำนวนวันทำพิธีกรรมอยู่ 4 วัน  ประเพณีนี้ มีประวัติเล่ากันมาว่า เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลทำกิน ซึ่งภายหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์จากท้องไร่ นา เสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ฤดูแห่งการพักผ่อน นอกจากนี้ ยังถือเป็นช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูร้อน พืชพันธุ์ต่างๆ จะเริ่มขาดแคลน การเพาะปลูกลำบาก จึงเริ่มที่จะทำให้ขาดอาหารในการบริโภค  และเล่าว่า เทศกาลประเพณีค้าท้องพ้าถือเป็นประเพณีของผู้ชาย โดยผู้ชายทั้งเด็ก และ ผู้ใหญ่ จะมีการทำลูกข่างฉ่องมีการละเล่นแข่งตีกัน เพื่อฉลองการเปลี่ยนแปลงวัย ที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งสรรพสิ่งทุกอย่างก็จะมีอายุมากขึ้นเช่นกัน พร้อมทั้งชุมชนแต่ละครอบครัวจะมีการแลกเปลี่ยนกินข้าวฉลองกันยิ่งใหญ่  โดยมีกิจกรรมการประกอบพิธีกรรม 4 วันคือ
-วันแรกพิธี  “จ่า แบ”(Dzaq beh)    วันประกอบพิธีบูชาเซ่นไหว้
-วันที่ สองวันทำลูกข่าง”(ฉ่อง)      เพื่อเล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่
-วันที่สามวันฉลองวันล้อดะ อ่าเผ่ว”(Lawl dac aq poeq)   รับประทานอาหารทุกหลังคา
-วันที่สี่ วันสุดท้ายจ่า ส่า”(Dzaq saq)  วันสุดท้ายประเพณี และประมาณ 19.00 .ก็ทำ
  พิธีเก็บอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้   เป็นอันเสร็จพิธีกรรมบริบูรณ์
ความหมายประเพณี
1)-แสดงถึงรอบอายุของสรรพสิ่งที่มีชีวิตจะเติบโต หรือแก่ลง
2)-ชำระหนี้สินส่วนกลางที่หยิบยืมจากชุมชน  และเป็นการเริ่มต้นเปิดฉางข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้มากินได้  
3)-เป็นการเปิดให้แจ้ย้ายเข้า-ออก ของสมาชิกในชุมชน
          

              ข้อมูลโดย
                                                                                                สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอ่าข่า เชียงราย  (สศว.)
                                                                                                        เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่าเอเชีย 
                                                                                                                         Akha Life Universitty

Comments

Popular posts from this blog

Akha life university มหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า

akha burma /อ่าข่าพม่า